เมษาฯ วิปริต

เดือนเมษายนมักจะเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนมากที่สุดของทุกๆ ปี ในประเทศไทย แต่ปีนี้เดือนเมษายนมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงมากผิดปกติ ในรอบ 56 ปี ภาพด้านบนแสดงให้เห็นบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง บริเวณสีเหลืองจะเป็นพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงมาก (คำเตือน : ให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำจากร่างกายและรักษาอุณภูมิในร่างกายให้เป็นปกติ) ขอบคุณภาพจาก http://gizmodo.com/

อุบัติภัยเชียร์โนบีล

เมื่อวันที่ 26  เมษายน พ.ศ.2529 (ค.ศ. 1986) ณ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชียร์โนบีล วิศวกรภาคกลางคืนได้ทำการทดสอบการทำงานของระบบหล่อเย็น และระบบทำความเย็นฉุกเฉินของแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ทำให้เกิดแรงดันไอน้ำสูงขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ระบบตัดการทำงานอัตโนมัติไม่ทำงาน ส่งผลให้แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์เกิดความร้อนสูงขึ้นจนหลอมละลายและเกิดระเบิดขึ้น ทำให้เกิดขี้เถ้าปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีพวยพุ่งขึ้นสู่บรรยากาศ ปกคลุมพื้นที่ทางตะวันตกของสหภาพโซเวียต ยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ จนต้องมีการอพยพประชากรออกจากพื้นที่อย่างฉุกเฉิน อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นหนึ่งในสองครั้งที่ได้รับการจัดความรุนแรงไว้ที่ระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (อีกครั้งหนึ่งเป็นของภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ ในปี พ.ศ.2554)
(ข้อมูลสนับสนุน : โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชียร์โนบีลตั้งอยู่ที่นิคมเชียร์โนบีล ริมฝั่งแม่น้ำนีเปอร์ ใกล้เมืองพริเพียต จังหวัดเคียฟ ทางตอนเหนือของยูเครน ใกล้ชายแดนเบลารุส (ในขณะนั้นยูเครนและเบลารุสยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต) อุบัติเหตุที่เชียร์โนบีลนี้เป็นอุบัติเหตุที่เกิดกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ในแง่ของค่าใช้จ่ายและชีวิต : ขอขอบคุณข้อมูลจาก วีกิพีเดีย : th.wikipedia.org และรูปภาพจาก Google Map)

เทคนิคการทำงานร่วมกับชุมชนโดยการใช้แผนภูมิความคิด (Mind Mapping)

           "ชุมชน" (Community) เป็นหน่วยย่อยของสังคมที่ใหญ่ขึ้นเป็นลำดับที่ 3 จาก บุคคล (Person) และ ครอบครัว (Family) ตามลำดับ ดังนั้น การทำงานร่วมกับชุมชนจึงต้องคำนึงถึงหน่วยย่อยลำดับที่ 1 และหน่วยย่อยลำดับที่ 2 เป็นสำคัญ เพราะการทำงานกับชุมชนต้องอาศัยแนวความคิดที่หลากหลายจากบุคคล ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวเดียวกัน ครอบครัวต่อครอบครัว หรือ ครอบครัวต่อหลายๆ ครอบครัว วิธีการที่จะให้ปัจจัยต่าง ๆ (Factors) เหล่านี้เป็นกลไกในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Change) ในทางที่ดีกว่า หรือ เรียกว่า "การพัฒนา" (Development) นั้น ผู้ดำเนินการในเวทีเสวนา (Dialogue) หรือ เวทีชาวบ้าน ต้องเข้าใจพื้นฐาน หรือ บริบทของชุมชนนั้น ๆ เสียก่อน แล้วจึงค่อยใช้วิธีสอบถามแนวความคิด อาจใช้วิธีการที่เรียกว่า "Metaplan" หรือ "เทคนิคบัตรคำ" โดยการให้แต่ละคนช่วยกันเขียนสิ่งที่เขาต้องการให้เกิดการพัฒนาต่อชุมชนในอนาคต (Future) แล้วนำมาวิเคราะห์ (Analysis) และสังเคราะห์ (Synthesis) หาคำสำคัญ (Keyword) ที่คล้ายกันเพื่อขมวดแล้วร้อยเรียงเป็นถ้อยคำต่อไป
อีกวิธีการหนึ่งที่ใช้ได้ผลและมีประสิทธิภาพ (Efficiency) สูง คือ เทคนิคการจดบันทึกด้วย "แผนภูมิความคิด" หรือ "Mind Mapping" วิธีการนี้ผู้ดำเนินการจะเป็นผู้คอยจดบันทึกคำพูดของผู้พูดทุกคนตามประเด็นหัวข้อ (Main Idea) ทั้งหัวข้อหลัก และ หัวข้อย่อย ไปเรื่อยๆ โดยการเขียนแบบแผนภูมิ ทำให้เกิดการบันทึกแบบไร้ขีดจำกัด และมีความน่าสนใจ สามารถต่อเติมได้ทุกเมื่อ ที่สำคัญผู้ดำเนินการต้องทำตัวเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พูดสามารถแสดงความคิดได้อย่างอิสระ สองเทคนิคนี้เป็นเพียงบางส่วนในการทำงานร่วมกับชุมชนเท่านั้น หากแต่ยังมีอีกหลายเทคนิคที่สามารถนำมาทำงานร่วมกับชุมชนได้ (ถ้าสนใจลองศึกษาดูนะครับ)

23 เมษายน วันที่มีผู้ถือกำเนิด และ มีผู้ดับสูญ

รุ่งสางของวันที่ 23 เมษายน 2559 นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอาการสงบ ในวัย 83 ปี 8 เดือน ถือเป็นการปิดตำนาน "มังกรสุพรรณ" นายบรรหารเกิดเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2475 ที่ จ.สุพรรณบุรี จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ในคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง เข้าสู่วงการเมือง พ.ศ. 2517 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เมืองสุพรรณ ถึง 11 สมัย เป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง และเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของไทย จนกระทั่ง 27 ก.ย. พ.ศ. 2539 ต้องประกาศยุบสภา เนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ช่วงที่โลดแล่นอยู่บนถนนการเมืองได้รับหลายฉายา เช่น มังกรสุพรรณ/ มังกรการเมือง/ เติ้งเสี่ยวหาร/ หลงจู๊การเมืองไทย เป็นต้น

ในวันที่เดียวกันแต่เป็นคนละยุคสมัย โลกก็ได้มีเอกบุรุษอีกคนเกิดขึ้น ในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2107 ซึ่งเป็นวันเกิดของ วิลเลียม เช็คสเปียร์ กวีและนักเขียนบทละครชาวอังกฤษ เขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง จนวาระสุดท้ายเขาได้เสียชีวิตที่เมืองสแตรตฟอร์ด เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2159 เขาเกิดและตายวันเดียวกัน ผลงานของเชคสเปียร์มักสะท้อนได้อย่างถึงแก่นต่อความโลภ ตัณหา ความรัก กิเลสในจิตใจของมนุษย์ทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้น ตั้งแต่กษัตริย์ไปจนถึงทาส  บทละครของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ถูกนำไปแสดงตามโรงละครทั่วโลก และถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาจนถึงทุกวันนี้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก wikipedia, http://www.dailynews.co.th และรูปภาพจาก google และ http://ewt.prd.go.th

รดน้ำดำหัวผู้บริหาร อบต.ย่านยาว

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 คณะครูโรงเรียนวัดท่าช้าง นำทีมโดย ผอ.อนุชา  ภูธร ได้เข้าร่วมกิจกรรมรดน้ำดำหัว คณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลย่านยาว อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย บรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่นและเต็มไปด้วยความอบอุ่น

 

เวทีใหม่ 01


 





หลังจากรอคอยกันมาอย่างใจจดใจจ่อ และแล้วโรงเรียนวัดท่าช้างก็ได้ฤกษ์ในการจัดสร้างเวทีบริเวณใต้ถุนอาคารเรียนตึก 4 ชั้น เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมแบบเอนกประสงค์ การจัดสร้างได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลย่านยาว จึงขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ โปรดติดตามความสำเร็จของการจัดสร้างเวทีต่อไปเร็วๆ นี้ (Coming Soon)

Think Earth


"เราจะช่วยกันแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้อย่างไร" วลีนี้เป็นคำถามที่มีผู้คนไม่น้อยคิด แต่จะมีใครบ้างที่ช่วยกันเสนอแนวความคิดหรือทางเลือกอย่างหลากหลาย 
การแก้ไขปัญหาโลกร้อนนั้นอาจเป็นการยากที่เราจะทำให้
สภาพแวดล้อมกลับคืนมาเหมือนเดิม เนื่องจากมนุษย์ได้ทำร้ายสิ่งแวดล้อมมาอย่างหนักหน่วงและยาวนาน จนทำให้ธรรมชาติหันกลับมาลงโทษเรา เบาบ้าง หนักบ้าง แล้วแต่ปัจจัยต่าง ๆ จะเป็นตัวกำหนด ไม่ว่าจะเป็นกระแสลม คลื่นความร้อน การซัดกระหน่ำของสายน้ำ การพังทลายของดิน เหล่านี้เป็นต้น
ดังนั้น เราจึงควรมาร่วมใจและช่วยกันพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม ดังวิธีการต่าง ๆ เหล่านี้
1. การเดินทาง
1.1 โดยสารเครื่องบินให้น้อยครั้ง เพราะ เครื่องบินก็มีส่วนในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่อากาศเช่นกัน
1.2 ใช้รถยนต์ที่สามารถใช้เชื้อเพลิงอย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น Hybrid Car หรือ Electric Car
1.3 เดิน หรือ ปั่นจักรยาน ถ้าใช้ระยะทางใกล้
1.4 พยายามเดินทางโดยการใช้ขนส่งมวลชน
2. เลือกใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3. ในบ้าน
3.1 ใช้หลอดประหยัดไฟ
3.2 ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากเบอร์ 5
3.3 ปิดสวิทช์และถอดปลั๊กทุกครั้งที่เลิกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า
3.4 ใช้การตากผ้าทดแทนการใช้เครื่องอบ
3.5 ติดตั้งแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์
4. เลือกรับประทานอาหารที่สดใหม่
5. ซื้อผลิตภัณฑ์การเกษตรสด ๆ จากไร่
6. ลดการใช้ถุงพลาสติก โดยหันมาใช้ถุงผ้าแทน
7. เลือกใช้กระดาษรีไซเคิล
8. มีบุตรไม่เกินสองคน
9. รับประทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลง
10. ปลูกต้นไม้ให้มากขึ้น
11. พยายามทำร่างกายให้แข็งแรง
12. พยายามสื่อสารเรื่องภาวะโลกร้อนกับเพื่อน ๆ ให้มากขึ้น
13. ประหยัดพลังงานและออมเงินให้มากขึ้น
เพียงเท่านี้เราก็สามารถช่วยกันลดการเสี่ยงที่จะทำให้โลกร้อนขึ้นอีก

{ภัฑรกิจ ไชยถา : เขียน}

ผีเสื้อจรกาหนอนยี่โถ “ผู้สุขุมเยือกเย็น”


การเดินสำรวจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ อุทยานแห่งชาติตาพระยา ได้พบความหลากหลายทางชีวภาพหลายแบบ ผีเสื้อก็เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่พบเห็นได้ง่าย จากการสังเกตพฤติกรรมของผีเสื้อ พบว่า "ผีเสื้อจรกาหนอนยี่โถ" เป็นผีเสื้อที่ดูสุขุมเยือกเย็นไม่ค่อยตกใจง่ายเหมือนชนิดอื่น ผีเสื้อชนิดนี้จึงพบเห็นได้ง่าย ลักษณะพิเศษที่พบคือ ปีกสีน้ำตาล มีจุดสีขาวบริเวณขอบปีกทั้งแถบ และ บริเวณลำตัว ชอบเกาะนิ่งๆ ตามพื้น
ชื่อสามัญ Common Indian Crow ชื่อวิทยาศาสตร์ Euploes core godartii (Lucas)
ประเด็นที่น่าสนใจเป็นพิเศษ
• จัดอยู่ในวงศ์ผีเสื้อขาหน้าพู่
• ขนาดปานกลาง
• ปีกสีน้ำตาลเข้ม
• เหลือบดำ
• หัวและอกมีสีดำ และ จุดประสีขาว
การทำงานในองค์การต่างๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นระดับหัวหน้า การเป็นคนสุขุมเยือกเย็น ถือเป็นคุณลักษณะที่ดี เพราะจะทำให้เป็นคนไม่วิตกจริต ไม่ตื่นตูม หรือ ถ้าต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดันแล้วก็จะทำให้มีสติ แก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี
ภัฑรกิจ ไชยถา : ภาพ+เขียน

ผีเสื้อเหลืองหนามประดับเพชร “อัญมณีแห่งวงศ์ผีเสื้อ”


ในการสำรวจ อุทยานแห่งชาติตาพระยา อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว พบพันธุ์ผีเสื้อที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ ผีเสื้อเหลืองหนามประดับเพชรผีเสื้อชนิดนี้มีลวดลายใต้ปีกที่สวยงาม เมื่อหุบปีกแล้วคล้ายการนำสีน้ำไปแต้มไว้ มีทั้งสีส้ม, สีแดง, สีฟ้า และ สีเหลือง คล้ายเครื่องประดับเพชร จึงเป็นที่มาของชื่อ
ประเด็นที่น่าสนใจเป็นพิเศษ:
• จัดอยู่ในวงศ์ผีเสื้อขาหน้าพู่
• ขนาดใหญ่
• ปีกกว้าง
• ปีกวับวาวคล้ายเครื่องประดับเพชร
• ขอบด้านข้างปีกบางส่วนยื่นไปด้านหลังลักษณะแหลมคล้ายหนาม
• พื้นปีกสีขาว
• บินได้เร็ว
• ชื่อสามัญ JewelledNawab
• ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyursdelphis (Doubleday)
ภัฑรกิจ ไชยถา
ผู้เขียน

ผีเสื้ออไซเรียนใหญ่ “ผู้ลึกลับแห่งป่าทึบ”


“อไซเรียน” มาจากชื่อของชนเผ่าโบราณที่เป็นชาวแอสซีเรียน ชอบอาศัยอยู่ตามป่าทึบ มีความสามารถในการสู้รบ และการล่าสัตว์ รู้จักสังเกตแม้กระทั่งพฤติกรรม หรือท่าทางของสัตว์ที่ตนสังหาร อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมที่ลึกลับ จึงเป็นที่มาของชื่อผีเสื้อชนิดนี้
ผีเสื้ออไซเรียนใหญ่เป็นผีเสื้อที่มีโครงสร้างของปีกที่แข็งแรง และสวยงาม ผู้สนใจศึกษาต้องใช้ความพยายามสูงในการติดตามบันทึกภาพ เพราะผีเสื้อชนิดนี้สังเกตได้ยาก เนื่องจากชอบอยู่บริเวณป่ารกทึบ
จุดที่น่าสังเกต :
• จัดอยู่ในวงศ์ผีเสื้อดอกกะหล่ำ
• ขนาดปานกลาง
• มุมปลายปีกมีสีส้ม
• ปีกด้านล่างมีพื้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน
• ลักษณะปีกคล้ายใบไม้
• ชอบบินโฉบไปมา

ภัฑรกิจ ไชยถา (ภาพ : เขียน)

ลูกข่างโลก


หากเรามองย้อนไปในอดีตเมื่อยังเด็กคงจำการละเล่นชนิดหนึ่งที่ชื่นชอบกันมาก “ลูกข่าง” คือของเล่นชนิดนั้น การเล่นลูกข่างต้องเหลาไม้ให้ปลายข้างหนึ่งแหลม อีกด้านเรียบป้านเสมอกัน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะต้องการให้ปลายแหลมสัมผัสพื้นเพียงจุดเดียวเพื่อการทรงตัว โดยการพันเชือกรอบๆ ลูกข่าง ขว้างลงพื้นแล้วดึงเชือกกลับโดยทันที ลูกข่างจะหมุนช้าหรือเร็วขึ้นกับแรงของการขว้างและการดึงเชือกเมื่อทิ้งเวลาไประยะหนึ่งลูกข่างจะหมุนช้าลงและเอียง 
เปรียบเทียบการเอียงของลูกข่างขณะกำลังหมุนตัวเหมือนกับโลกในปัจจุบันที่เอียงทำมุม 23.5 องศา มีหลายๆ คนสงสัยว่าถ้าแกนโลกเอียงไปมากกว่านี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อย่างหนึ่งที่เปลี่ยนคือฤดูกาล จากร้อนเป็นหนาว จากหนาวเป็นร้อน นอกจากนั้นอาจทำให้การหมุนตัวของโลกเร็วขึ้น นั่นหมายถึงเวลาจะเร็วขึ้น สิ่งที่ส่งผลทำให้แกนโลกเปลี่ยนไป ได้แก่ การเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดมากกว่า 10 ริกเตอร์ แต่ไม่ทำให้เปลี่ยนไปมากเท่าไหร่ อีกอย่างคือการควงตัวของโลก เพราะโลกจะควงตัวครบรอบทุกๆ 25,730 ปี ถ้านับจากปัจจุบันไปอีก 12,865 ปี ถึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนฤดูกาลเช่นที่ว่า ต่อจากนั้นอีก 12,865 ปี ถึงจะกลับมาเป็นเช่นเดิม
ถ้าศึกษาและพิจารณาข้อมูลให้ดีทำให้เราเข้าใจ เพราะปรากฏการณ์เหล่านี้จะค่อยเป็นค่อยไป มนุษย์สามารถปรับตัวได้ ดังนั้น การตัดสินใจหรือการพิจารณาสิ่งใดต้องอยู่บนฐานของสติและความมีเหตุมีผลเสมอ
อ้างอิง : ภาพและข้อมูลบางส่วนจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 16 มีนาคม 2553

ราชินีแห่งดอกไม้เมืองร้อน


เมื่อสมัยที่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำได้ว่าได้เรียนวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต เรื่องหนึ่งคือ ดอกชบา ความเป็นจริงจุดมุ่งหมายของเรื่องไม่ได้เจาะจงที่ดอกชบาเพียงอย่างเดียว หากแต่ใช้เพื่อสื่อความรู้เกี่ยวกับส่วนประกอบต่างๆ ของพืช ดอกชบาได้รับการขนานนามว่า ราชินีแห่งดอกไม้เมืองร้อน (Queen of Tropical Flower) เพราะมีความงามที่โดดเด่น ประเทศมาเลเซียและประเทศจาไมกา ใช้ดอกชนิดนี้เป็นดอกไม้ประจำชาติ (แท้จริงแล้วดอกชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศจีน) ในหลักความเชื่อของศาสนาฮินดูนั้นถือว่าดอกชบาเป็นดอกไม้ของเจ้าแม่กาลี จุดเด่นของพืชชนิดนี้ คือ มีเส้นใยที่มียางเมือก (Mucilaginous) อยู่ในเนื้อไม้ ลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ทำให้มีรูปร่างหลายแบบ เช่น วงกลม วงรี รูปไข่ หรือ รูปเว้า มีกลีบดอก 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นวงที่ฐานดอก มี 2 เพศในดอกเดียว โดยสังเกตได้ดังนี้เกสรเพศผู้ มีส่วนประกอบ คือ อับเรณูสีเหลืองรูปไตและก้านชูอับเรณูสีขาวหรือสีเดียวกันเกสรเพศเมีย จะอยู่ที่ปลายหลอดเกสรเพศผู้ มักมีก้านเล็ก ๆ แยกยอดเกสรเพศเมียออกเป็น 5 ยอด ซึ่งบ่งบอกถึงจำนวนห้องในรังไข่ ส่วนปลายยอดมีน้ำหวานจับที่ละอองเรณูดอกชบาแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ 1. ดอกบานรูปถ้วย 2. ดอกบานรูปแผ่แบน 3. กลีบดอกบานแบบแผ่โค้ง
ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Hibiscus syriacus L.; Hibiscus chinenis DC.
ภัฑรกิจ ไชยถา
ถ่ายภาพ:เขียน

อาวุธที่ทรงพลานุภาพของครู

 

 

 

 
ในยามรบนักรบต้องมีเครื่องมือในการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพ นั่นคือ อาวุธนานาชนิด เพื่อให้ได้ชัยชนะ แต่ทุกครั้งนักรบก็ต้องมีการพัฒนาอาวุธของตนเองให้ทันสมัยอยู่เสมอ เนื่องจากคู่ต่อสู้มีความสามารถที่แตกต่างและหลากหลาย การจัดกระบวนการเรียนการสอนก็เช่นกัน ครูต้องมีเครื่องมือที่มีศักยภาพ นั่นคือ “สื่อการสอน” ไม่ว่าวิชาใดก็ตาม “สื่อการสอน” ถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการเขียนแผนการสอน และถือเป็นหัวใจในการสอน เนื่องจากสื่อการสอนเป็นรูปธรรมมากกว่าเนื้อหา ดังนั้น “ครู” ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถผลิต พัฒนา ให้มีสื่อประกอบการสอนที่สัมพันธ์กับเนื้อหาทุกครั้ง สื่อการสอนไม่ต้องยากจนเกินไป สิ่งรอบข้างเราถือเป็นสื่อได้ทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าครูมีความเข้าใจในบริบทของเนื้อหาวิชา ผู้เรียน และ เทคนิคการสอน มากหรือน้อยเท่านั้นเอง
(ภัฑรกิจ ไชยถา : ภาพ+เขียน)

กิจกรรมช่วงสงกรานต์

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 โรงเรียนวัดท่าช้างได้เข้าร่วมกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุตำบลย่านยาว ในภาคเช้า ส่วนภาคบ่ายเป็นการร่วมกิจกรรมอำเภอยิ้มเคลื่อนที่ อำเภอสวรรคโลก ณ โรงเรียนวัดท่าช้าง ในงานมีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การจัดกิจกรรมรดน้ำดำหัว การเล่นเกม การประกาศเจตนารมณ์ปกป้องสถาบันสำคัญของชาติ การให้บริการตัดผม การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเกษตร ประมง การนำเสนอปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน การประชุมเชิงนโยบายแก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ การแจกถุงยังชีพให้กับผู้ยากไร้
 

          

ทิศทางการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2559 บุคลากรครูของโรงเรียนวัดท่าช้าง จำนวน 5 คน พร้อมผู้อำนวยการสถานศึกษา นายอนุชา  ภูธร ได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ "ทิศทางการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21" โดย สมาคมครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนท้องถิ่นสุโขทัย ทั้งนี้ เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาหลักสูตรและการจัดการศึกษาให้เกิดความก้าวหน้าและสอดคล้องกับทิศทางในการจัดการศึกษามากที่สุด
  
  
 
เนื้อหาเกี่ยวกับ